ความตั้งใจของนักเดินทางทั้งหลายที่มาเยือน ภูเก็ต นอกจากเดินทางมาเพื่อซึมซับบรรยากาศของทะเลหาดทรายอันงดงามแล้ว การมาเที่ยวชมตามสถานที่ต่างๆ ทั้งทางศิลปะและวัฒนธรรม ไปจนถึงงานเทศกาลประเพณีประจำปีก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเดินทางมาเที่ยวเกาะภูเก็ตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในแต่ละปี โดยเฉพาะในช่วงราวเดือนตุลาคมของทุกปี หากนักท่องเที่ยวได้มาเยือนภูเก็ตเป็นครั้งแรก อาจรู้สึกแปลกใจที่ชาวภูเก็ตแทบทั้งเมืองแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวทั้งที่บางคนหน้าตาดำเข้มไม่เหมือนชาวจีนทั่วไปเลย นั่นหมายถึง ประเพณีถือศีลกินผัก(กินเจ)จังหวัดภูเก็ต ตามประเพณีของชาวภูเก็ตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
เดิมประเพณีกินผัก (เจี๊ยะฉ่าย) ที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า "เจี๊ยะฉ่าย" นั้น เป็นลัทธิเต๋าซึ่งนับถือบูชาเซียนเทวดา เทพเจ้า วีรบุรุษ เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยน คำว่า "เจี๊ยะฉ่าย" (กินผัก) เป็นภาษาท้องถิ่น วันประกอบพิธีตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ (เก้าโง้ยโฉ่ยอีดถึงโฉ่ยเก้า) ตามปฏิทินจีนของทุกๆปี
พิธีกรรมในช่วงงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต
การเล่นประทัด การเล่นประทัดเพื่อต้อนรับขบวนแห่ ควรจุดประทัดและวางบนพื้นก่อนขบวนแห่มาถึง และ จุดประทัดโยนใส่ไท่เปี่ย(เสลียงเล็ก) ได้แต่ห้ามจุดประทัดใส่หนิวสั่ว (ร่มฉัตรจีน)
พิธีอิ้วเก้ง เป็นการออกเยี่ยมขององค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ เพื่ออวยพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีขบวน ธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า ต่อด้วยเสลี่ยงเล็ก( ไท่เปี๋ย ) จากนั้นเป็นขบวนของหนิ่วสั่ว(ร่มฉัตรจีน) ตามด้วย ตั่วเหลี้ยน (เสลี่ยงใหญ่) ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ประชาชนควรคุกเข่าและอยู่ในอาการสงบนิ่งเพื่อรับพรจากองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ในขณะที่ขบวนแห่ผ่านไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้าน
พิธีโก้ยโห้ย (พิธีลุยไฟ) พิธีกรรมเพื่อชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์
พิธีโก้ยห่าน (พิธีสะเดาะเคราะห์) ทำหลังจากพิธีลุยไฟ พิธีกรรมนี้ทำที่อ๊าม โดยผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์ตัดกระดาษเป็นรูปแทนตัวเอง พร้อมเงินตามศรัทธาและต้นกุ๊ยฉ่าย 1 ต้น เดินข้ามสะพาน ให้ผู้ประทับทรงประทับตราด้านหลังของเสื้อที่สวม เรียกว่า ต๊ะอิ่น หมายถึงผู้ที่ผ่านการสะเดาะห์เคราะห์แล้ว
พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของงานกินผัก ตอนกลางคืนจะมีการส่งองค์หยกฮ๋องซ่งเต่ ซึ่งมักส่งกันที่หน้าเสาโกเต้ง ก่อนห้าทุ่ม กลับสวรรค์ หลังจากนั้น ก็มีการส่งองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ (หลายอ๊ามจะส่งที่ชายทะเลสะพานหิน เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ๊าม (ศาลเจ้า) ต้องดับสนิทและปิดประตูใหญ่วันรุ่งขึ้นทุกอ๊าม (ศาลเจ้า) จะพิธีลงเสาโกเต้ง และสิ้วกุ้น ( เชิญทหารกลับกรมกอง)
โดยประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต ปี 2558 นี้จะจัดขึ้น
- ตรงกับวันที่ 13 - 21 ตุลาคม 2558 ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องถือศีลอย่างเคร่งครัดจำนวน 10 ข้อ ในระหว่างประเพณีถือศีลกินผัก ในแต่ละศาลเจ้าจะมีพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาและอัญเชิญองค์เทพลงมาเป็นประธานในงานถือศีลกินผัก ปัจจุบันประเพณีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ของชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปีนับเวลาได้ หลายร้อยปีแล้วซึ่งถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวภูเก็ต